ประวัติหน่วยงาน

Release Date : 29-03-2016 00:00:00
ประวัติหน่วยงาน

ราชนาวิกสภาตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๙ โดยคำสั่งกระทรวงทหารเรือ โดยมีจอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เป็นผู้ลงนามในคำสั่ง เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๘ โดยในสมัยแรกก่อตั้งทรงรับเป็นผู้อำนวยการพิเศษและเป็นสภาปถัมภก และ พลเรือเอก พระเจ้าบรม -วงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงรับเป็นผู้อำนวยการ

เพื่อใช้เป็นสถาบันส่งเสริมการศึกษา และเผยแพร่วิชาการแก่นายทหาร และเพื่อให้นายทหารได้พบปะปราศรัย แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้แก่นายทหารสัญญาบัตร ทั้งนี้โดยให้ราชนาวิกสภาอยู่ในความปกครองของกรมเสนาธิการทหารเรือ โดยตั้งตำแหน่ง บรรณารักษ์ ๑ นาย ปฏิคม ๑ นาย และผู้ช่วยพลทหารรับใช้ตามอัตรา และเสนาธิการทหารเรือมีอำนาจที่จะสั่งนายทหารเป็นกรรมการอำนวยการราชนาวิกสภา หรือเป็นกรรมการพิเศษเฉพาะการใดการหนึ่งของราชนาวิกสภา โดยจำนวนกรรมการ คณะหนึ่งไม่เกิน ๕ คน และราชนาวิกสภานี้ ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (หลักฐานสอบจากกองพระธรรมนูญ) สถานที่ตั้งของราชนาวิกสภาอยู่ทางริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก เดิมเป็นบ้านของ พระอินทรเทพ (ทัพ) ภายหลังตกเป็นของพระคลังข้างที่ กองทัพเรือได้เริ่มเช่ามาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๓ โดยเช่าจาก สำนักงาน ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พื้นที่ ๒๔๑.๙๓ ตารางวา เสียค่าเช่าปีละ ๓๐๐.- บาท ปัจจุบัน อาคารราชนาวิกสภา เป็นที่ตั้งของสำนักงานราชนาวิกสภา ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมยุทธศึกษาทหารเรือ และทำหน้าที่ในการปฏิบัติงานให้กับราชนาวิกสภา โดยมีหน้าที่อยู่ ๒ ประการ คือ การปาฐกถา และกิจการนาวิกศาสตร์ สำหรับการบริหารงานของราชนาวิกสภานั้น กองทัพเรือได้แต่งตั้ง คณะกรรมการราชนาวิกสภา โดยคณะกรรมการนี้ประกอบด้วยนายกกรรมการ ๑ ท่าน รองกรรมการ ๑ ท่าน และกรรมการอีก ๑๓ ท่าน

ด้านทิศตะวันออก จดแม่น้ำเจ้าพระยา 
ด้านทิศเหนือ ติดกับเขตวัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆสิตาราม) 
ด้านทิศตะวันตก จดถนนบ้านขมิ้น (ถนนอรุณอมรินทร์) 
ด้านทิศใต้ ติดกับเขตวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม)

และเมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่ง ราชวงศ์จักรีแล้ว ได้เสด็จมา ประทับที่พระบรมมหาราชวัง ฝั่งกรุงเทพฯ และทรงยกพระนิเวศน์เดิมให้แก่ พระเจ้าลูกยาเธอเป็นสมบัติตกทอด เรื่อยมาจนถึงสมัย รัชกาลที่ 5 จะเห็นได้ว่าบริเวณที่ตั้งอาคารราชนาวิกสภาปัจจุบัน ได้เคยเป็นส่วนหนึ่งของ อาณาบริเวณพระนิเวศน์เดิม อันเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ เพราะเป็นพระนิเวศน์เดิมของ พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีเจ้านายถึง 2 พระองค์ ที่ประทับที่นี่ ได้ทรงอุปราชาภิเษกเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 โดยองค์หนึ่งนั้นได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) จากนั้นจึงเป็นที่ประทับของ พระราชโอรสในกรมพระราชวัง บวรสถานมงคล อีก 2 พระองค์ มาจนถึงรัชกาลที่ 5 จึงได้รับพระราชทานเป็นที่ตั้งกรมทหารเรือ และได้สิ้นสุดการเป็นวัง

 

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม 

อาคารราชนาวิกสภา (หลังแรกด้านทิศใต้) เป็นอาคารแบบตะวันตก 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน มีไม้ประกอบ ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันด้านหน้า (ด้านยาว) ออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตรงกับ หมู่พระมหาปราสาทของพระบรมมหาราชวัง ฟากตรงข้าม ของแม่น้ำ ตัวอาคารชั้นล่าง ในปัจจุบันเป็น ที่ทำการของ ราชนาวิกสภา ประกอบด้วย หน่วยงานต่างๆ เช่น ห้องสมุด และ สำนักงานราชนาวิกสภา ส่วนชั้นบน จะใช้งาน เฉพาะกิจ เช่น งานจัดเลี้ยง และการประชุม เป็นต้น ประกอบด้วย ระเบียงขนาดใหญ่ และห้องต่าง ๆ เช่น ห้องประชุม และห้องสมุด ที่ระเบียงขนาดใหญ่ชั้นบนนี้ได้เคยใช้เป็นที่รับเสด็จสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อประทับทอดพระเนตรริ้วขบวน พยุหยาตราทางชลมารคมาแล้ว อาคารนี้แต่เดิมไม่มีระเบียงด้านหน้าเช่นในปัจจุบันนี้ แต่ได้มาถูกต่อเติมในราว ก่อน พ.ศ. 2474 เพื่อร่วมฉลองกรุงเทพฯ 150 ปี โดย นาวาตรี หลวงวัฒนประดิษฐ์ (รวย วัฒนประดิษฐ์) เป็นผู้ออกแบบในความควบคุมของหลวงบรรเจิดเรข

กรรม (ชม ภิรมย์) ซึ่งได้มีการทำบันได ทางขึ้นหลักที่กึ่งกลางของอาคารใหม่เพื่อความสง่างาม แทนที่บันไดชุดเดิมในคราวนี้ด้วย บันไดนี้เขียนแบบโดยศาสตราจารย์ พลเรือตรี สมภพ ภิรมย์ ปูชนียบุคคลแห่ง

วงการสถาปัตยกรรมไทย (บิดาของนายกษิต ภิรมย์ รมต.กระทรวงต่างประเทศ ในขณะนี้) ขณะยังเป็นเด็กฝึกหัดเขียนแบบใน แผนกนวกรรม โดยลักษณะสถาปัตยกรรมที่ต่อเติม คงมีอิทธิพล รูปแบบเรอเนสซองส์ แต่ได้มีการผสมผสาน และประยุกต์ให้ เรียบง่ายขึ้น ทั้งชั้นล่าง และชั้นบน มีระเบียงยาว ตลอดความยาว ของตัวอาคาร ด้านหน้าตัวอาคาร ชั้นล่างทำเป็นอาเขต (ARCADE) ก่ออิฐถือปูน มีเสาเป็นระยะ พื้นระเบียงชั้นล่าง ทั่วไป ตกแต่งด้วยกระเบื้องซีเมนต์ ลายดอกไม้ประยุกต์ เหนือประตูแต่ละประตู มีการเจาะช่องลม เป็นซี่ ๆ แลดูงดงาม ตามแนวตั้ง ผนังห้องด้านนอกมีเสาติดผนังคอนกรีต เพื่อช่วยในการ รับน้ำหนักพื้นระเบียง ชั้นบน เป็นช่วง ๆ ต่อมาภายหลังได้มีการ ทำพนักระเบียง ก่ออิฐถือปูนทึบทุกช่วงเสาด้านหน้าอาคาร และมีการยกระดับ พื้นห้อง ชั้นล่าง ขึ้นสูงจากระเบียง ๑ ขั้นบันได เพื่อกันน้ำท่วมล้นเข้าอาคาร กึ่งกลางของตัวอาคารชั้นล่าง มีบันไดตรงขึ้นไป ก่อนที่จะแยกออกเป็นสองทาง เพื่อขึ้นสู่ระเบียงชั้นบน ที่ผนังชานพักบันไดมีการทำช่องกระจก ประดับสัญลักษณ์ ราชนาวิกสภา เหนือประตูและหน้าต่างของห้องต่าง ๆ ของชั้นบนมีการฉลุเป็นลวดลาย พันธุ์พฤกษาแบบประดิษฐ์ เหนือขึ้นไป ทำเป็นเกล็ดไม้ระบายอากาศ นอกจากนี้ ที่ห้องชั้นล่างห้องสุดท้าย ด้านทิศใต้ ยังมีบันไดขึ้นสู่ระเบียง ชั้นบนได้อีกทางหนึ่ง บันไดนี้มีกล่องไม้ ฝาเลื่อนและ บานประตูขนาดเล็ก สามารถปิดเปิดควบคุมไม่ให้คน ขึ้นลงจาก ชั้นบนได แลดูน่าสนใจ ที่ปลายอาคารทั้ง 2 ด้าน เหนือระเบียงชั้นบนมีการทำ หอคอยประดับ โดยหอคอยด้านทิศเหนือมี บันไดเวียนสามารถขึ้นลงได้ หอคอยทั้ง 2 ด้านนี้มี การเจาะช่องแสง พิเศษรูปวงกลมปั้นปูน รูปห่วงยางชูชีพเป็นกรอบ ที่กึ่งกลาง ด้านหน้าอาคารระดับเดียวกับแนวดาดฟ้า ทำเป็นแผงกระจังคอนกรีต ประดับปูน ปั้นเป็นตัวอักษรสีทองข้อความ ราชนาวิกสภา ถัดจากดาดฟ้า ที่คลุมระเบียงชั้นบนเป็นหลังคาของตัวอาคารทรงปั้นหยา (HIP ROOF) มุงด้วยกระเบื้องสีแดง โครงสร้าง ภายในเป็นโครงถัก (TRUSS) ไม้เนื้อแข็ง

อาคารราชนาวิกสภา (หลังแรก) มีความชำรุดทรุดโทรมไปตามอายุขัย จนราวปี 2545 จึงได้มีการบูรณะปรับปรุงครั้งใหญ่ให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง เพื่อเตรียมใช้เป็นที่รองรับการชมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ของผู้นำชาติต่าง ๆ ที่จะมาประชุม APEC 2003 ใน พ.ศ. 2546 แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับประโยชน์ใช้สอย กอรปกับเป็นอาคารเก่า ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นตัดสินใจสร้างอาคารที่มีลักษณะหน้าตาคล้ายคลึงกันอีกหลังหนึ่งต่างหาก บนพื้นที่ว่างหน้าพระนิเวศน์เดิม ซึ่งเคยมีต้นไม้ ขนาดใหญ่ยักษ์ 1 คู่ ยืนตระหง่าน หน้ากำแพงทางเข้า มาเป็น เวลากว่า 100 ปี และ มีเสาธงของกองเรือลำน้ำที่เป็นจุดหมาย (LANDMARK) ของ บริเวณนี้มาช้านาน